กิจกรรมในครอบครัวอย่างหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ลูกได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ คือการชวนลูกให้มาจัดระเบียบข้าวของในบ้านด้วยกัน นอกจากจะได้ พื้นที่ใช้สอย พื้นที่ทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้ปลูกฝังความมีระเบียบวินัยให้ลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเริ่มง่ายๆ ได้จากเรื่องใกล้ตัว โดยการสอนลูกเก็บของ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เสื้อผ้าของลูกน้อย ของเล่นของใช้ ตุ๊กตา หนังสือนิทาน เป็นต้น
มาดูเทคนิคง่ายๆ 5 ข้อที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกมาเพิ่มพื้นที่แหล่งความสุข พร้อมกับ สอนลูกเก็บของ ไปพร้อมๆ กัน
1. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
พ่อแม่คือแบบอย่างที่ดีของลูก เพียงเริ่มจากการเก็บของให้ลูกน้อยเห็นเป็นประจำ ลูกจะเรียนรู้จากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่ว่า เล่นแล้วต้องรู้จักเก็บ ใช้แล้วต้องเก็บให้เป็นที่ ของใช้ในบ้านไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน นิตยสาร แก้วนม ถ้วยกาแฟ ฯลฯ ที่ใช้แล้ว ต้องเก็บให้เรียบร้อย เมื่อลูกเห็นว่าการจัดเก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบเป็นเรื่องปกติ เมื่อไรก็ตามที่คุณแม่ชวนลูกมาช่วยกันเก็บให้เรียบร้อย ลูกจะไม่ปฏิเสธ ยิ่งถ้าทำแล้ว คุณแม่ชื่นชม หรือให้กินขนมอร่อยๆ ก็จะยิ่งรู้สึกว่า กิจกรรมงานบ้านเป็นเรื่องสนุก ทำเสร็จแล้วยังได้กินขนมอร่อยๆ ฝีมือคุณแม่อีกด้วย
*โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะ เริ่มด้วยการแบ่งงานเบาๆ ให้ลูกทำ เช่น เก็บของเล่น หนังสือนิทาน อุปกรณ์ศิลปะ เครื่องเขียนที่วางอยู่บนโซฟา เก็บวางใส่ในชั้นตู้เก็บของให้เรียบร้อย
2. ให้ลูกน้อยครีเอทได้เอง
การเปิดโอกาสให้ลูกได้ครีเอทเองว่า อยากจัดเก็บอะไรในรูปแบบไหน และไว้ตรงไหน เป็นการกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดความกระตือรือร้นและอยากจะจัดเก็บของต่างๆ ให้เป็นระเบียบ คุณแม่อาจถามลูกเป็นคำถามปลายเปิด แล้วให้เขาคิดต่อว่า การเก็บของ เช่น ชุดเสื้อผ้า ถุงเท้า ผ้าขนหนู ของใช้ส่วนตัวที่เขาต้องใช้ทุกวัน ควรจะต้องเก็บใส่ไว้ตรงไหน ห้องไหน มุมไหนของบ้าน เมื่อลูกรู้แล้วว่าจะต้องเก็บของใช้เหล่านี้ไว้ตรงไหนได้แล้ว แนะนำให้คุณแม่นั่งเก็บของไปพร้อมกันกับลูก สอนให้ลูกแยกเสื้อผ้าที่ใส่แล้วไว้ในตระกร้า สำหรับเก็บเอาไปซักทำความสะอาด ส่วนเสื้อผ้าที่ซัก แห้งแล้ว ต้องแยก ต้องพับ หรือแขวนจัดเก็บใส่ไว้ในชั้นตู้เสื้อผ้าอย่างไร เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ และดูเป็นระเบียบ หยิบออกมาใช้ง่าย
3. ให้รางวัลดาวเด็กดี
เนรมิตพื้นที่กิจกรรมในบ้านที่เพิ่มขึ้น คุณแม่สามารถชวนลูกเก็บของ ด้วยกิจกรรมสนุกๆ แข่งเก็บของกับลูกๆ โดยมีรางวัลเป็นดาวเด็กดี ว่าถ้าลูกเก็บของ เก็บของเล่นเข้าที่ทุกครั้งหลังเล่น หลังใช้เสร็จ จะได้ดาวเด็กดี 1 ดวง เมื่อครบ 10 ดวง จะได้รางวัลเป็นไอติม หรือแล้วแต่ข้อตกลงของแต่ละครอบครัวได้เลย กิจกรรมนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเล่นด้วย เพื่อที่ลูกได้เห็ว่าทุกคนในบ้านมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้
4. แบ่งปันเพื่อเปลี่ยนแปลง
การสอนลูกให้เก็บของที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงส่งเสริมให้มีพฤติกรรมที่ดีติดตัวลูก ไปจนโตเท่านั้น แต่คุณแม่ยังสอดแทรกเพิ่มเติมให้ลูกได้รู้จักการแบ่งปันสิ่งของให้กับคนที่มีโอกาสน้อยกว่าในสังคม การปลูกฝังลูกว่าสิ่งของบางอย่างที่ยังอยู่ในสภาพดี และลูกไม่ได้ใช้ ไม่ได้เล่นแล้ว สามารถนำไปบริจาค ทำให้เกิดประโยชน์กับเด็กคนอื่นๆ ได้นะ และเพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าเสียดาย หวงของขึ้นมา คุณแม่อาจต้องอธิบายว่าของๆ เขาชิ้นนั้น เมื่อบริจาคไปแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับอย่างไรบ้าง เช่น หนังสือนิทาน ส่งไปมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครก็จะอ่านเนื้อเรื่องในนิทานอัดบันทึกเสียง ไว้ใช้เปิดให้กับเด็กๆ ผู้พิการทางสายตา ได้เรียนรู้ สนุกไปกับเนื้อหาในหนังสือนิทาน เป็นต้น เมื่อลูกเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการแบ่งปันแล้ว ก็ลงมือช่วยกันคัดแยกของที่สภาพดี แต่ไม่ได้ใช้งานแล้ว มาทำความสะอาดให้เรียบร้อย
อุปกรณ์ของใช้ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ที่เก็บแยกได้จากตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือที่บ้าน หากชิ้นไหนยังใช้งานได้ให้แยกออกมา ชุดเสื้อผ้า หนังสือนิทาน ของเล่น ตุ๊กตา ฯลฯ ที่ต้องการบริจาคให้จัดเก็บใส่ลงกล่องกระดาษใบใหญ่ แนะนำว่าให้เลือกเป็นวันคล้ายวันเกิดลูกปีละครั้ง เพื่อเป็นการสร้างความทรงจำดีๆ ในชีวิตของลูกค่ะ
5. คำพูดเสริมพลังบวก
เสริมพลังบวกให้ลูกด้วยคำพูดดีๆ จากพ่อแม่ ใช้ช่วงเวลาก่อนเข้านอน สอบถาม พูดคุยกับลูก อ่านนิทานให้ลูกฟัง บอกรักลูกในทุกๆ วัน สร้างสายใย เชื่อมใจลูกเชื่อมใจแม่เข้าด้วยกัน ชมลูกบ่อยๆ เมื่อลูกทำดี คือสิ่งที่เขาอยากได้ยิน “ลูกทำได้ดีแล้ว ทำต่อไปนะ พ่อกับแม่เชียร์ลูกอยู่ข้างๆ นะจ๊ะ”
เพียงเท่านี้ การสอนลูกเก็บของจะง่ายกว่าเคย การฝึกวินัยให้ลูกจะง่ายกว่าที่คิด ด้วยตัวช่วยดีๆ จากอิเกียที่เพิ่มพื้นที่แห่งความสุขในบ้านของคุณ
ขอบคุณข้อมูลจาก : amarinbabyandkids
ขอบคุณภาพจาก : Internet
|